Last updated: 23 ธ.ค. 2563 | 51130 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
วัดสังฆทาน
ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
๏ อัตชีวประวัติ
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ พระนักเผยแผ่ธรรมและพระนักปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง มีนามเดิมว่า สนอง โพธิ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ (๔ ฯ ๕) ปีวอก จ.ศ. ๑๓๐๕ ณ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งในวันที่ท่านเกิดนั้นได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ คือ มีลูกเห็บตกลงมาจากท้องฟ้า ซึ่งผู้คนในบ้านต่างตื่นเต้นยินดี และคิดว่าเด็กที่เกิดในวันนี้ต้องเป็นผู้มีบุญมาเกิดแน่นอน จึงจัดหาพานมารับเด็กที่พึ่งคลอด และขนานนามเด็กชายคนนี้ว่า สนอง โยมบิดาชื่อ นายเอม โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีนามฉายาว่า อริยวํโส) โยมมารดาชื่อ นางแม้น โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้ถือศีลออกบวชเป็นแม่ชี) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗ มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. นางจอง ศรีสำแดง
๒. นางลูกจันทร์ วงค์กฏ
๓. นางบรรจง ปานสุวรรณ
๔. ทารกเพศหญิง เสียชีวิตขณะคลอด
๕. นายบุญทรง โพธิ์สุวรรณ
๖. นางชะอม บุญประสม
๗. หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
๘. นายเสนาะ โพธิ์สุวรรณ
๙. พระพงษ์ศักดิ์ สีลเปโม
๏ การบรรพชา
ครั้นเมื่ออายุประมาณ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดไชนาวาส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แล้วมีโอกาสศึกษาบาลีนักธรรมอยู่ ๒ ปี จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
๏ การอุปสมบท
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ พัทธสีมาวัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โดยมี พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต) วัดดอนไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระบุญทรง วัดหนองไผ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระบุญยก วัดดอนไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กตปุญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีบุญอันได้กระทำแล้ว, ผู้ทำบุญไว้แล้วแต่ปางก่อน” ท่านอุปสมบทได้เพียงพรรษาเดียวก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปทางภาคอีสาน
๏ ลำดับการจำพรรษา
• พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗
วัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ได้ประพฤติปฏิบัติตามศีลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะข้อ ๑๐ (ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี) คือ เจตนาเว้นจากการรับเงินทองหรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๗ เดือน ได้ข่าวโยมมารดามาบวชชี ณ วัดทุ่งสามัคคีธรรม ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จึงรีบเดินทางมาพบโยมมารดาด้วยความปีติดีใจ และได้พบ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสังวาลย์ได้แนะนำให้หลวงพ่อสนองเข้าห้องกรรมฐานบ่มอินทรีย์ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ณ ป่าช้าวัดหนองไผ่ เช่นเดียวกับที่ท่านเคยปฏิบัติที่ป่าช้าวัดบ้านทึง โดยสมาทานไม่พูด ไม่เขียน (พูดเขียนได้แต่เฉพาะกับหลวงพ่อสังวาลย์รูปเดียวเท่านั้น) และได้สมาทานธุดงค์ ๗ ข้อคือ
(๑) เตจีวริกังคะ ถือเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
(๒) เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉันเพียงอาสนะเดียวเป็นวัตร
(๓) ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่างคือบาตร
(๔) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
แม้อาหารที่ถวายภายหลังจะประณีตกว่า
(๕) โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
(๖) ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้เป็นวัตร
(๗) เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ
(เฉพาะธุดงควัตร ข้อ ๗ นี้ เริ่มปฏิบัติหลังจากอยู่ป่าช้าแล้ว ๓ เดือนแล้วถือมาตลอด
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้เลิกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย)
• พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐
ป่าช้าวัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
การปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อสังวาลย์จะมาสอบอารมณ์กรรมฐานหลวงพ่อสนอง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ต่อครั้ง ผลการปฏิบัติในป่าช้าทำให้ท่านเชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง หลวงพ่อสังวาลย์กล่าวชมหลวงพ่อสนองว่าเป็น พระภิกษุสุวโจ คือเป็นคนที่ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่รั้น สอนอะไรก็ทำตามได้หมด
• พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี (วัดเขาถ้ำหมี)
ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
หลังจาก ๓ ปีผ่านไป หลวงพ่อสนองขออนุญาตหลวงพ่อสังวาลย์ออกจากห้องกรรมฐาน หลวงพ่อสังวาลย์เห็นสมควรแล้วจึงอนุญาต และได้พูดถึงความดีของพระสงฆ์ให้ฟัง ต่อมาหลวงพ่อสนองได้กราบลาหลวงพ่อสังวาลย์เพื่อออกธุดงค์หาที่สงบวิเวกและเที่ยวชมวัดร้าง โดยไม่คิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนใคร แต่หลวงพ่อสังวาลย์คิดว่าพระรูปนี้ต่อไปจะต้องสั่งสอนคนแน่นอน จึงมอบกลดของท่านที่หลวงพ่อเกลื่อนทำถวาย ซึ่งหลวงพ่อสังวาลย์ใช้เดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปีให้กับหลวงพ่อสนอง การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสนองจะเดินไปตลอด ไม่ยอมขึ้นรถ เมื่อพบคนไม่มีรองเท้าก็ถอดให้ ตัวท่านเองจะเดินเท้าเปล่า
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดร้างวัดแรกที่ท่านมาชมโดยมิได้ตั้งใจคือ วัดสังฆทาน ร้างอยู่กลางสวน มีเพียงองค์หลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ และฐานอิฐเก่าๆ บนที่ไร่เศษ สถานที่สงบเย็น ร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อสนองพิจารณาแล้วคิดสร้างวัดสังฆทานให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐาน เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้แหล่งรวมของผู้มีปัญญาและกำลังซึ่งจะเป็นกำลังของพระศาสนาได้ดี
แต่ขณะนั้นตัวท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น การจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดี ให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจธุดงค์กลับไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพุข่อย จ.สุพรรณบุรี แต่มีเหตุให้ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางลบหายไปหมด ท่านจึงเดินย้อนมาอีกทางก็มาพบเขาถ้ำหมี จึงเปลี่ยนใจปฏิบัติธรรมที่เขาถ้ำหมี จ.สุพรรณบุรี และถ้ำกระเปาะ จ.ชุมพร อีกเป็นเวลา ๖ ปี โดยท่านได้ฝึกกสิณดินและกสิณไฟ ได้ดวงกสิณดินที่ถ้ำหมีนั่นเอง
• พรรษาที่ ๗-๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕
ถ้ำกะเปาะ ต.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
หลวงพ่อสนองเดินทางมาที่ถ้ำกะเปาะ พิจารณาแล้วว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของพระสงฆ์มาก แต่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ที่นี่หลวงพ่อได้มาฝึกกสิณน้ำ กสิณลม ส่วนกสิณไฟได้มาฝึกต่ออีกครั้งจนเกิดดวงกสิณ การเผยแผ่ธรรมในช่วงนี้จะมีเพียงเล็กน้อย มีญาติโยมมาฝึกสมาธิบ้าง ที่ถ้ำกะเปาะมีเหตุการณ์ที่สนุกประทับใจหลายเรื่อง มีพระที่ตามไปปฏิบัติธรรมกับท่านคือ หลวงพ่อประทีป สมฺปุณฺโณ ต่อมาหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต้นตาลโตน ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔
• พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๖
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี (วัดเขาถ้ำหมี)
ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อสนองเดินทางกลับมาที่ถ้ำหมีอีกครั้งเพื่อมาโปรดญาติโยมและสร้างโรงเรียน มีญาติโยมศรัทธามาปฏิบัติเป็นประจำ ในวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนยอดเขาและได้ก้าวพลาดตกลงมา หลังกระแทกกับหินทำให้กระดูกที่หลังแตก จากนั้นเป็นต้นมาท่านจะปวดหลังตลอดเวลา ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ปวดจนเป็นปกติ เวลานั่งสอนสมาธิก็จะเจ็บปวด ขาทั้งสองจะชามาก ท่านไม่ได้ให้หมอรักษา แต่ใช้ความอดทนข่มความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครทราบและเป็นห่วง โดยเฉพาะโยมมารดาซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสังฆทาน แต่หลังจากโยมมารดาถึงแก่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๒) ท่านจึงได้เล่าให้ญาติโยมฟังและไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ
• พรรษาที่ ๑๑-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
หลังจากที่ฝึกกสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม และกสิณไฟ เป็นเวลาทั้งหมด ๖ ปี หลวงพ่อสนองจึงเดินทางกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อจำพรรษาร่วมกับพระสงฆ์อีก ๕ รูป ด้วยข้อวัตรปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาท่านว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ สภาพความเป็นอยู่จึงยากลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและการปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีจำนวนน้อยมาก พระสงฆ์ทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า หลังจากนั้นก็มีพระเณรตามมาอีก แต่ต่อมาก็หนีกลับเพราะบิณฑบาตแล้วไม่พอฉัน
ช่วงนี้ท่านใช้หลักการเผยแผ่ธรรมด้วยความสงบด้วยการปฏิบัติ ท่านเล่าว่ามีนิมิตเกิดขึ้น คือ หมีเดินเข้ามาหา ต่อมาหมีก็กลายเป็นหมู จากหมูก็กลายเป็นเณรมานั่งตักท่าน นโยบายของท่านเริ่มต้นด้วยการสร้างบุคลากรโดยมุ่งฝึกฝนพระสงฆ์ที่มาบวช พระสงฆ์ที่จะออกมาทำงานให้กับสังคมต้องเก็บตัวปฏิบัติก่อน จนกว่าจะมีธรรมะและสามารถนำธรรมะมาใช้ได้ จึงจะให้ออกมาทำงาน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เดินทางไปกราบ หลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ปรารภถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม พิจารณาเห็นว่าวัดร้างกลางสวนบริเวณ ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี มีพระพุทธรูปใหญ่เป็นพระประธาน (องค์หลวงพ่อโต) มีความเป็นสัปปายะอันหาได้ยาก ทั้งบริเวณตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวง จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดสังฆทาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อสนองไปรับ พระอาจารย์พลอย เตชพโล แห่งวัดเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาช่วยเป็นหัวหน้าช่างในการบูรณะ องค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป รวมทั้งชาวบ้านญาติโยม การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้ก่อตั้ง มูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน ขึ้นเพื่อช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาและช่วยหมู่คณะได้ดีขึ้น มูลนิธิฯ จะเป็นตัวแทนของท่านในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านได้ดำเนินไปในนามของมูลนิธิฯ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ชาติด้วยความเมตตา
• พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑
วัดสันติวงศาราม (วัดสังฆทาน) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
หลวงพ่อสนองได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดสันติวงศาราม (เดิมชื่อ วัดสังฆทาน) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยขณะนั้นมีพระสุรชัย อภิชโย (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพยายามฝึกฝนเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะใช้สอนสมาธิและอธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เพราะต่อไปเมืองไทยจะมีชาวต่างชาติมาศึกษาฝึกสมาธิกันเป็นจำนวนมาก และจะกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวต่างชาติทั่วโลก ที่ประเทศอังกฤษมีญาติโยมคนไทยมาฝึกสมาธิและทำบุญประมาณ ๕๐๐ ครอบครัว
• พรรษาที่ ๒๖-๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
หลวงพ่อสนองกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี หลังจากที่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐานที่ประเทศอังกฤษแล้ว
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม่ชีแม้น โพธิ์สุวรรณ (มารดาของหลวงพ่อสนอง) ได้ถึงแก่กรรม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เอม อริยวํโส สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๓๔ (บิดาของหลวงพ่อสนอง) ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพ่อสนองสร้างสำนักสงฆ์เขายายแสง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
• พรรษาที่ ๓๕-๔๒ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๘
วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
หลวงพ่อสนองได้เปลี่ยนชื่อและยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายจาก สำนักสงฆ์เขายายแสง เป็น “วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม” ท่านมีดำริให้วัดแห่งนี้เป็น สถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าคอร์สฝึกสมาธิตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติสำหรับรับรองชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ ท่านได้มอบหมายให้แม่ชีชาวออสเตรียเป็นผู้ดูแลให้ความสะดวกในด้านการปฏิบัติกับชาวต่างประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศนั้น แต่เดิมเป็นภูเขาแห้งแล้งและป่าเสื่อมโทรมเชื่อมต่อเป็นทิว มีถ้ำมากมาย แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ร่มรื่น มีอุโบสถเป็นถ้ำ มีกุฏิพระสงฆ์เรียงรายตามไหล่เขา เป็นสถานที่อันสัปปายะเหมาะสมกับผู้ที่มาแสวงหาความสงบทางจิตใจ ตั้งแต่พื้นที่ราบเชิงเขาเลียบเลาะไหล่เขาขึ้นไปตามลำดับ พื้นที่โดยรอบเขามีการปลูกป่าต้นกฤษณาและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก ผืนป่าอันสงบเงียบ สงบเย็น มีอากาศหนาวเย็นสบายแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการใช้เพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจ พื้นที่ของวัดตั้งอยู่ติดกับ “บ้านสว่างใจ” ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
• พรรษาที่ ๔๓-๔๔ พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๐
สำนักป่าปฏิบัติธรรมวังน้ำเขียว ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
• พรรษาที่ ๔๕ พ.ศ. ๒๕๕๑
• พรรษาที่ ๔๖ พ.ศ. ๒๕๕๒
ที่พักสงฆ์เขารามโกฏิ เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล
หลวงพ่อสนองได้ไปโปรดชาวเนปาล จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เขารามโกฏิ เมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล
• พรรษาที่ ๔๗ พ.ศ. ๒๕๕๓
วัดสังฆทาน ไทย-เยอรมัน กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
หลวงพ่อสนองไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน ไทย-เยอรมัน (Wat Sanghathan Thai-German) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
• พรรษาที่ ๔๘ พ.ศ. ๒๕๕๔
• พรรษาที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๕
ศูนย์ปฏิบัติธรรมกตปุญโญ ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี