Last updated: 22 ก.ย. 2567 | 57283 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติ หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
พระกรรมฐานแห่งเมืองสุพรรณ
วัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก สุพรรณบุรี
นาม เดิมท่านคือสังวาลย์ นามสกุล จันทร์เรือง เกิดเมื่อ จันทร์ เดือน 4 ปีมะโรง (2459) ที่บ้านหนองผักนาก สามชุก สุพรรณบุรี บรรพบุรุษท่านมีอาชีพทำนา แต่โยมบิดาท่านเป็นผู้ที่ได้นำภาพยนตร์มาฉายในอำเภอสามชุกเป็นคนแรก
อุปสมบท ครั้งแรก เมื่ออายุครบบวช แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนไม่รู้หนังสือ บทสวดมนต์บางบท ท่านต้องจำจากที่แม่ชีสวดกัน ท่านจึงสวดมนต์ได้แค่อิติปิโส ฯ พาหุง ฯ แม้แต่นะโมก็ต้องต่อเอา ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องลาสิกขาบท ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะลาเลย
ชีวิตสมรส ท่านสมรสกับแม่บาง เมื่ออายุ 26 ปี ในปี 2448 แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ท่านยึดอาชีพทำนาแต่ด้วยเหตุที่ท่านมีสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าไรนัก บางครั้งขณะที่ทำงานเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ท่านก็ต้องผลัดกันไถนาโดยอาศัยห้างนาเป็นที่พัก รอจนไข้ลดจึงได้ออกมาทำนาเป็นปรกติ บางทีก็ทำนาไม่ได้ ต้องให้ภรรยาท่านเป็นคนทำ ท่านจึงรับหน้าที่ เป็นผู้ช่วยหุงหาอาหารให้ภรรยาเท่านั้นเอง ท่านได้ทนทุกข์ทรมานกับโรคภัยถึง 2 ปี โดยในระหว่างนั้นท่านได้รับคำแนะนำจากแม่ชีจินตนา ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ให้ทำกรรมฐานเผื่อว่าโรคจะหาย
ความ ที่ท่านมีโรคภัยนี้เอง จึงได้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านได้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เห็นภัยที่เกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ขึ้นมา ท่านเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งแม่บางไม่สบาย ท่านก็ได้ช่วยดูแลตามประสาสามี ธรรมดาของคนป่วยย่อมจะต้องมีความอิดโรยเป็นธรรมดาและช่วยตัวเองไม่ได้ ท่านจึงช่วยตักน้ำราดศีรษะให้แม่บาง พอน้ำราดลงบนเส้นผม ไอระเหยที่โดนเส้นผมนั้น ส่งกลิ่นชวนให้น่ารังเกียจ เนื่องจากไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน ทำให้ท่านเกิดสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างกายของคนเรานี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นรังแห่งโรค เป็นที่เกิดแห่งทุกข์
ครั้งหนึ่งท่านได้เดินผ่านกระจกเงาบานใหญ่ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ทั้งตัว แทนที่ท่านจะมองเห็นเป็นรูปร่างของตัวท่าน ท่านกลับเห็นเป็นอสุภนิมิต มีโครงกระดูกขึ้นแทน ด้วยตัวท่านเป็นผู้ฝึกทำกรรมฐานอยู่เสมอ จึงทำให้จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนอยู่ย่อมเกิดปัญญาเกิดความรู้เห็นขึ้น มีญาณทัศนะปรากฏขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ท่านเห็นภัยในสังขารยิ่งขึ้นและเกิดความเบื่อหน่าย ที่จะครองเรือนอีกต่อไป การสละจาการครองเรือนจึงได้เกิดขึ้น
ท่าน ได้บอกกับแม่บาง ให้รู้ถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ที่ท่านจะไปสู่ธรรมวินัยของพระบรมศาสดา เพื่อที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ให้จงได้ ในการจะออกบวชในครั้งนี้ท่านก็ได้ให้พ่อห่วง ผู้เป็นบิดา ให้บอกกับลูกหนี้ทั้งหมดที่เป็นหนี้เป็นสินกับบิดาของท่าน ให้มาประชุมพร้อมกัน และท่านได้ขอร้องพ่อห่วงให้ยกเลิกสัญญาที่ลูกหนี้ทั้งหลายได้กระทำกับบิดา ของท่าน ด้วยการฉีกเอกสารทิ้งทั้งหมด นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นในการให้ทาน อันเป็นที่น่าปีติยินดีอย่างยิ่ง
หลังจากนั้นท่านได้ทำมหาทานอีกครั้ง ด้วยการบอกภรรยาว่า จะขอออกบวชอีกครั้ง ให้แม่บางหาสามีใหม่ได้
การ บวชครั้งที่ 2 เมื่อท่านอายุได้ 35 ปี ณ วัดนางบวชอำเภอเดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี เมื่อเวลา 14.45 น. ของวันที่ 27 เมษายน 2494 โดยมี พระครูแขก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ทองย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการไสว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่าเขมโก
เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้เข้าไปปฏิบัติธรรม ณ ป่าช้าวัดบ้านทึง สามชุก ท่านได้อาศัยอยู่ในป่าช้าโดยมีหลวงพ่อมหาทอง โสภโณ ซึ่งเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติ ผู้อาวุโส อยู่ด้วย ท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านปริยัติได้ดีท่านหนึ่ง และท่านได้เป็นผู้แปลข้อศีลที่ว่า การไม่ยินดีรับเงินและทองเพื่อเป็นของตน หรือให้ผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน นับแต่นั้นมาหลวงพ่อสังวาลย์ก็ไม่มีปัจจัยแม้แต่สตางค์แดงเดียว และที่พระอาจารย์มหาทองท่านได้สอนหลวงพ่ออีกคือ
สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวย สมาธิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายพึงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิดเพราะจิตที่เป็นสมาธินั้น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
เพียงประโยคนี้เท่านั้น ที่ท่านถือเป็นแนวทางปฏิบัติ มุ่งมั่นกระทำความเพียร อยู่ในป่าช้าตลอดเวลา 5 ปี
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัตินี้เองทำให้ท่านรู้เห็นตามความเป็นจริง โดยท่านได้ยึดหลักธุดงควัตรตลอดเวลา
หลัง จากที่ท่านพระอาจารย์มหาทองได้ละสังขารแล้วท่านจึงได้ออกจากป่าช้า แต่ท่านก็มิได้ละเลยหรือทอดธุระในภาคปฏิบัติเลยแม้แต่น้อย โดยท่านจะนึกถึงคำของอาจารย์ที่ว่า นักปฏิบัติจะทิ้งการปฏิบัติไม่ได้ จนกว่าจะหมดลมท่านเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อท่านมาอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม และไปสร้างวัดป่าน้ำตกเขมโก ที่ ด่านช้าง สุพรรณบุรี ท่านก็จะสั่งสอนและเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอมิได้ขาดเลย
ในระยะเริ่ม แรกท่านมีอุปสรรคมากเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ บางคนถึงกับเข้ามาทำร้ายและขัดขวางการเผยแพร่ธรรมทุกรูปแบบ แต่ในที่สุดท่านก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ และเผยแพร่ธรรมให้ทุกคนรู้จักประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างกว้างขวาง มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรม เข้าห้องกรรมฐานปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 ที่หลวงพ่อแนะนำสั่งสอนได้เป็นอย่างดี หลวงพ่อจึงมีศิษยานุศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย
เมื่อ ท่านยังปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าช้าวัดบ้านทึง แทบทุกวันตอนที่ท่านบิณฑบาตสุดสาย จะมีโยมผู้หญิงรุ่นโยมแม่ (เป็นคนจับปลาย่านนั้น) พายเรือให้ข้ามฟาก
วันหนึ่ง...
หลวงพ่อสังวาลย์...." โยมเลิกดีกว่าหากุ้ง หาปลา ลูกๆ ก็โตหมดแล้ว "
โยม..." เลิกก็ดีเหมือนกัน อิฉันก็เบื่อเต็มที " แกรับและสารภาพ
หลวงพ่อสังวาลย์...." อาตมาขอบิณฑบาต พวกแห พวกยอทั้งหมด "
โยม..." ได้จ้ะ อิฉันจะขนไปให้ท่านเช็ดเท้า "
ท่าน เล่าว่าโยมผู้นี้หาปลามาตั้งแต่เด็ก ไม่มีอาชีพอื่น แกบุกไปทั่ว ไม่ว่า ท่าโบสถ์ โพธิ์พยา ปากไห่ ฯ โยมมารับศีล ๕ แล้วท่านก็บอกว่า
หลวงพ่อสังวาลย์...." บ้านโยมมีไม้ไผ่เยอะ สานพัด สานกระบุงขายจะรวย "
โยม..." ค่ะ อิฉันจะลองทำดู "
คุณ โยมตั้งตัวได้ในที่สุด เพราะพัด - กระบุง - ตะกร้า ที่ช่วยกันสาน ลูกๆ แม่ๆ ไม่พอส่งขาย...ท่านว่า..ก่อนจะพูดให้โยมเลิกนั้น มันมีสิ่งที่ปรากฏขึ้นในกรรมฐานท่านมาก่อน เมื่อนักล่าประจำลุ่มน้ำมาถือศีลได้ จึงเลื่องลือไปไกล
มีพระอาวุโส ท่านหนึ่งมาหาแล้วกล่าวว่า...
พระอาวุโส... " ท่านสังวาลย์เก่งจริง เอาคนหาปลารักษาศีลได้ "
หลวงพ่อ..." โยมเขาขาดคนชี้นำเท่านั้น...เขาขาดครู "
พระอาวุโส..." ท่านนี่มีความรู้เหลือหลาย "
หลวงพ่อ..." รู้เขานั้นไม่ใช่ดีเสมอไป รู้เรานั่นแหละเป็นอุดมมงคล "
ประวัติโดยย่อของหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก
ปี พ.ศ. 2494 หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก อุปสมทที่วัดนางบวช อ.เดิมบางนางบวช เมื่ออายุ 35ปี วันที่ 27 เม.ย. 2494 เป็นการบวชครั้งที่สอง (ครั้งแรกเมื่ออายุครบบวช) และไปจำพรรษาปฏิบัติธรรมที่วัดบ้านทึง (ในป่าช้าวัดบ้านทึง) สถานะเดิมชื่อ สังวาลย์ จันทร์เรือง บิดานายห่วง มารดานางวาด เกิดวันจันทร์ ปีมะโรง พ.ศ. 2459 ที่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
ปี พ.ศ. 2501 ได้มาจำพรรษาที่วัดทุ่ง อยู่ในวิหารเก่าเป็นวัดร้าง มีเนื้อที่ประมาณ 3งาน (เป็นวิหารที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา) เพื่อปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐาน – วิปัสสนา ต่อมามีพระภิกษุมาร่วมปฏิบัติกับท่านจนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านในท้องถิ่น และสาธุชนโดยทั่วไป
ปี พ.ศ. 2510 ทางราชการได้ขอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 โดยมหาเถระสมาคมอนุมัติให้ยกวัดทุ่ง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ วัดทุ่งสามัคคีธรรม) เป็นวัดมีพระสงฆ์ขึ้นใน ปกครองคณะสงฆ์ มีหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก เป็นประธานสงฆ์ มีพระสงฆ์ 20รูป อุบาสก 10คน อุบาสิกา 10คน มีกุฏิที่พักส่งฆ์ 6หลัง หอสวดมนต์ 1หลัง มีที่ดินเพิ่มขึ้นมาเป็น 10ไร่เศษ
ปี พ.ศ. 2525 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระภิกษุมาลัย ปัญญาสโร เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งสามัคคีธรรม โดยมีหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก เป็นผู้คอยให้การสนับสนุนอุปถัมภ์ (เนื่องจากหลวงปู่สังวาลย์เป็นพระปฏิบัติ ถ้าไม่จำเป็นจจะไม่รับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ) ได้สร้างถาวรวัตถุ มีกุฏิสงฆ์ 20หลัง กุฏิแม่ชี 26หลัง ศาลาการเปรียญ 1หลัง หอสวดมนต์ 1หลัง ห้องน้ำประมาณ 100ห้อง ถังเก็บน้ำ 3ที่ และได้ริเริ่มสร้างพระอุโบสถ ซึ่งหลวงปู่สังวาลย์ และคณะกรรมการวัด ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังงคมทูลเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมวสลีพระวรชายา(ในขณะนั้น) เป็นผู้ยกช่อฟ้าอุโบสถ
ปี พ.ศ. 2530 วัดทุ่งสามัคคีธรรมได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2530 ในวันฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ มาตัดลูกนิมิต วัดทุ่งฯ ก็เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ถาวรวัตถุที่หลวงปู่สังวาลย์ นำก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก มีศาลาแก้วจุ ผู้ที่มาทำบุญได้ประมาณ 2,000คน และก่อสร้างศาลาเรือหงส์ที่สวยสดงดงามมาก สร้างศาลาเรือสุพรรณพระกัมมัฏฐานที่ไว้บำเพ็ญในด้านการศาสนาจุผู้มาทำบุญได้ ประมาณ 8,000-10,000 คน และได้ก่อสร้างศาลาเมรุพร้อมเมรุอีก 1หลัง ตลอดจนได้ทำนุบำรุงวัดทุ่งฯ ให้มีกุฏิพระสงฆ์ และกุฏิแม่ชีที่มาปฏิบัติธรรมอยู่ประจำในวัดอีกประมาณ 100คนเศษ
ปี พ.ศ. 2533 หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ได้ให้ทางคณะสงฆ์แต่งตั้งหลวงพ่อธาดา สมจิตโตเป็นรองเจ้าอาวาสวัดทุ่งสามัคคีธรรม
ปี พ.ศ. 2536 พระอธิการมาลัย ปัญญาสโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งฯ ได้มรณะภาพลง ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งสามัคคีธรรม เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2536 หลวงปู่วังวาลย์ ได้นำความเจริญท้งด้านทางธรรม และการบริหารสร้างความมั่นคง เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนานด้วยการสร้างถาวรวัตถุให้อนุชนรุ่น หลังได้สืบศาสนาต่อไป มีพื้นที่ที่เป็นวัดทุ่งฯ 213-0-53 ไร่เศษ ให้พระภิกษุ แม่ชี และชีพราหมณ์ ได้อยู่อาศัยปฏิบัติธรรม
ปลายปี พ.ศ. 2539หลวงปู่สังวาลย์ได้อาพาด เป็นอัมพาด ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หลังจะได้การรักษา หลวงปู่สังวาลย์มีอาการดีขึ้น
ปี พ.ศ. 2542 หลวงปู่สังวาลย์ ได้ไปก่อสร้างวัดป่าน้ำตกเขมโกที่ หมู่ที่ 4 ต.วังคัน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยได้ไปซื้อที่ดินของนายรักชัย เงาวัฒนาประทีป อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 194-3-37 ไร่ ท่านดำริว่าจะสร้างวัดส่งแก่ อยากจะได้วัดที่เงียบสงบ ไม่ห่างจากหมู่บ้านมากนัก ประกอบกับชาวตลาดด่านช้างมีผู้จิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพรุทธศาสนาเป็นจำนวน มาก เริ่มแรกสร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง โรงตรัว 1หลัง กุฏิพระสงฆ์ 5หลัง ห้องน้ำ 10หลัง ปี พ.ศ.2544 สร้างหอสวดมนต์เพิ่มอีก 1หลัง สร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มอีก 4หลัง กุฏิแม่ชีอีก 2หลัง สร้างห้องน้ำเพิ่มอีก 20ห้อง ปี พ.ศ. 2545 เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ เจาะบ่อบาดาล 1บ่อ
ปี พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2546 กฐินของวัดทุ่งสามัคคีธรรม และของวัดป่าน้ำตกเขมโก หลวงปู่สังวาลย์ ท่านมีดำริว่าให้จัดเป็นกฐินช่วยชาติ และได้นิมนต์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาเทศก์ที่วัดป่าน้ำตกเขมโก มีประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลมาเป็นหมื่น ได้เงินช่วยชาติไปประมาณ 8 ล้านกว่าบาท
วันที่ 2 มิถุนายน 2547 หลวงปู่สังวาลย์ เขมโกละสังขาร มีอายุได้ 89ปี มีพรรษา 55พรรษา ซึ่งเป็นที่โศกเสร้าของสาธุชนโดยทั่วไปที่เคารพบูชาท่าน ฯลฯ
24 เม.ย 2561
9 มี.ค. 2561
26 เม.ย 2561
24 เม.ย 2561